วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

วันสำคัญของไทย

วันสำคัญทางศาสนา
        วันสำคัญ หมายถึง วันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆในอดีต และเพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของวันนั้น ๆ รัฐ - ชุมชน หรือหน่วยงานจึงได้จัดให้มีพิธีการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้ประชาชนหรือคนในสังคมได้ตระหนัก และระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในวันนั้นด้วยความภาคภูมิใจ หรือเพื่อเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติที่ดีงามสืบทอดต่อกันมา ซึ่งวันสำคัญนี้จะมีหลายระดับ เช่น ระดับบุคคล ได้แก่ วันเกิด วันแต่งงาน ระดับหน่วยงาน ได้แก่ วันสถาปนาของหน่วยงานนั้นๆ ระดับชาติ ได้แก่ วันเฉลิมพระชนมพรรษา วันวิสาขบูชา และวันภาษาไทยแห่งชาติ เป็นต้น
        วันสำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่มีเหตุการณ์ที่สำคัญ อันเนื่องด้วยพระรัตนตรัย คือพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เหตุการณ์ที่สำคัญดังกล่าว เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่า คือบริษัทสี่อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ให้น้อมรำลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในหลักที่สำคัญ เพื่อนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อจรรโลงให้พระพุทธศาสนา ดำรงคงอยู่สถิตสถาพร เป็นคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่ตนเองและแก่สัตว์โลกทั้งปวง ซึ่งมิใช่จำกัดอยู่เพียงมนุษยชาติเท่านั้น
        วันสำคัญในพระพุทธศาสนา ตามลำดับความสำคัญ และตามลำดับเวลาที่เกิดขึ้นคือ วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา และออกพรรษา




แหล่งที่มา


วันวิสาขบูชา

ต ร ง กั บ วั น ขึ้ น ๑ ๕ ค่ำ เ ดื อ น ๖
ประสูติ
ตรัสรู้
ปรินิพพาน
       ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสาขปุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน ๗
       ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง ๓ คราวคือ

๑. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี
๒. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
๓. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ ๔๕ ปี พระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
       นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง ๓ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก

วันอัฏฐมีบูชา
ต ร ง กั บ วั น แรม ๘ ค่ำ เ ดื อ น ๖


       วันอัฏฐมีคือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เป็นวันที่ชาวพุทธต้องมีความเสียใจและสูญเสียพระบรมสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูง จึงเป็นวันควรแสดงธรรมสังเวชและระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล

       วันอัฏฐมีบูชา เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า หลังจากเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ ๘ วัน คือหลังจากวันวิสาขบูชาแล้ว ๘ วัน เป็นที่น่าเสียดายว่า วันอัฏฐมีบูชานี้ ในเมืองไทยเรามักลืมเลือนกันไปแล้ว จะมีเพียงบางวัดเท่านั้น ที่จัดให้มีการประกอบกุศลพิธีในวันนี้


       เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว ๗ วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เป็นวันหนึ่งที่ชาวพุทธต้องมีความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะการสูญเสียแห่งพระพุทธสรีระ เมื่อวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เมื่อเวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ประเพณีถวายพระเพลิงฯ จำลอง ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นต้น


วันอาสาฬหบูชา

ต ร ง กั บ วั น เพ็ญ เดือน ๘
   วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน ๘ ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) ๑ วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน พระโกณฑัญญะในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
   ในเมื่อวันนี้ของทุก ๆ ปี เวียนมาถึงพุทธศาสนิกชน จึงนิยมทำการบูชาเป็นพิเศษ และ พุทธศาสนิกชนในที่บางแห่ง ยังตั้งชื่อวันอาสาฬหบูชานี้ว่า "วันพระสงฆ์" ก็มี อาสาฬหะ คือ เดือน ๘ อาสาฬหบูชา คือ การบูชาพระในวันเพ็ญเดือน ๘ ความสำคัญ ของวันเพ็ญเดือน ๘ นี้ มีอยู่อย่างไร จะได้นำพุทธประวัติตอนหนึ่งมาเล่าต่อไปนี้ นับแต่วันที่สมเด็จพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ คือ ในวันเพ็ญเดือน ๖ พระองค์ประทับเสวยวิ มุตติสุขในบริเวณโพธิมัณฑ์นั้น ตลอด ๗ สัปดาห์ คือ
- สัปดาห์ที่ ๑ คงประทับอยู่ที่ควงไม้อสัตถะอันเป็นไม้มหาโพธิ์ เพราะเป็นที่ตรัสรู้ ทรงใช้ เวลาพิจรณาปฏิจจสมุปปาทธรรมทบทวนอยู่ตลอด ๗ วัน

- สัปดาห์ที่ ๒ เสด็จไปทางทิศอีสานของต้นโพธิ์ ประทับยืนกลางแจ้งเพ่งดูไม้มหาโพธิ์โดย ไม่กระพริบพระเนตรอยู่ในที่แห่งเดียวจนตลอด ๗ วัน ที่ที่ประทับยืนนั้นปรากฎเรียกในภายหลังว่า "อนิสิมสสเจดีย์"

- สัปดาห์ที่ ๓ เสด็จไปประทับอยู่ในที่กึ่งกลางระหว่างอนิมิสสเจดีย์ กับต้นมหาโพธิ์แล้วทรง จงกรมอยู่ ณ ที่ตรงนั้นตลอด ๗ วัน ซึ่งต่อมาเรียกที่ตรงนั้นว่า "จงกรมเจดีย์"

- สัปดาห์ที่ ๔ เสด็จไปทางทิศพายัพของต้นมหาโพธิ์ ประทับนั่งขัดบัลลังก์พิจารณาพระอภิ ธรรมอยู่ตลอด ๗ วัน ที่ประทับขัดสมาธิเพชร ต่อมาเรียกว่า"รัตนฆรเจดีย์" 
- สัปดาห์ที่ ๕ เสด็จไปทางทิศบูรพาของต้นมหาโพธิ์ประทับ ที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธ อยู่ ตลอด ๗ วัน ในระหว่างนั้น ทรงแก้ปัญหาของพราหมณ์ผู้หนึ่งซึ่งทูลถามในเรื่องความเป็นพราหมณ์
- สัปดาห์ที่ ๖ เสด็จไปทางทิศอาคเนย์ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้จิกเสวยวิมุตติสุขอยู่ ตลอด ๗ วัน ฝนตกพรำตลอดเวลา พญานาคมาวงขดล้อมพระองค์ และแผ่พังพานบังฝนให้พระองค์ ทรงเปล่งพระอุทานสรรเสริญความสงัด และความไม่เบียดเบียนกันว่าเป็นสุบในโลก
- สัปดาห์ที่ ๗ เสด็จย้ายสถานที่ไปทางทิศใต้ของต้นมหาโพธิ์ ประทับที่ควงไม้เกดเสวยวิมุตติ สุขตลอด ๗ วัน มีพาณิช ๒ คน ชื่อ ตปุสสะ กับ ภัลลิกะเดินทางจากอุกกลชนบทมาถึงที่นั้น ได้เห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงนำข้าวสัตตุผงข้าวสัตตุก้อน ซึ่งเป็นเสบียงกรังของตนเข้าไปถวายพระองค์ทรงรับเสวยเสร็จแล้ว สองพาณิชก็ประกาศตนเป็นอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในประวัติกาล ทรงพิจารณาสัตว์โลกเมื่อล่วงสัปดาห์ที่ ๗ แล้ว พระองค์เสด็จกลับมาประทับที่ควงไม้ไทรชื่ออชาปาลนิโครธอีก ทรงคำนึงว่า ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นี้ ลึกซึ้งมาก ยากที่สัตว์อื่นจะรู้ตาม จีงท้อพระทัยที่สอนสัตว์ แต่อาศัยพระกรุณาเป็นที่ตั้ง ทรงเล็งเห็นว่าโลกนี้ผู้ที่พอจะรู้ตามได้ก็คงมี


วันมาฆบูชา

ต ร ง กั บ วั น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
ความหมาย
  วันมาฆบูชาหมายถึง การบูชา ในวันเพ็ญเดือน ๓ เนื่องในโอกาสคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์

ความสำคัญ
       วันมาฆบูชา เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ที่ พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ โดยมิได้นัดหมายกันพระสงฆ์ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์
    ผู้ได้อภิญญา ๖และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้า ในวันนี้พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งเป็นทั้งหลักการอุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติที่ นำไปใช้ได้ทุกสังคม มีเนื้อหา โดยสรุปคือให้ละความชั่วทุกชนิด ทำความดี ให้ถึงพร้อมและทำจิตใจใหผ่องใส
ประวัติความเป็นมา
      ๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้ ๙ เดือนขณะนั้นเมื่อเสร็จพุทธกิจแสดงธรรมที่ถ้ำสุกรขาตาแล้ว เสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ เดือนมาฆะหรือเดือน ๓ในเวลาบ่ายพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุม พร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ ๔ ประการ คือ
๑. วันนั้นเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้ นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจาก พระพุทธเจ้า
      เพราะเหตุที่มีองค์ประกอบสำคัญดังกล่าว จึงมีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า วันจาตุรงคสันนิบาต และในโอกาสนี้ พระพุทธเจ้า ได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศหลักการอุดมการณ์ และวิธีการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา

วันเข้าพรรษา
     วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 วันเข้าพรรษาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้มีอยู่ 2 วันคือ
     วันเข้าปุริมพรรษา คือเข้าพรรษาแรก ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 11
     วันเข้าปัจฉิมพรรษา คือวันเข้าพรรษาหลัง ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญเดือน 12
     เมื่อเข้าพรรษาแล้วหากภิกษุมีกิจธุระจำเป็น อันชอบด้วยพระวินัย พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้ไปได้ โดยมีข้อจำกัดว่าจะต้องกลับมายังสถานที่จำพรรษาเดิมภายใน 7 วัน ที่เรียกว่า สัตตาหกรณียะ ดังต่อไปนี้
          1. เมื่อทายกทายิกา ปราถนาจะบำเพ็ญกุศล เมื่อมานิมนต์ก็ให้ไปเพื่อรักษาศรัทธาได้
            2. ถ้าสงฆ์ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งเกิดอธิกรณ์ขึ้น ก็ให้ไปเพื่อระงับอธิกรณ์ได้
            3. ถ้าบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง พระอุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นไข้ เมื่อทราบก็ให้ไปได้
            4. พระวิหารในที่แห่งอื่นเกิดชำรุดเสียหาย ให้ไปหาสิ่งของเพื่อมาปฏิสังขรพระวิหารนั้นได้
            5. เมื่อถูกสัตว์ร้ายรบกวน ถูกโจรปล้น พระวิหารถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำท่วม ก็ให้ไปจากที่นั้นได้
            6.เมื่อชาวบ้านถูกโจรปล้น อพยพหนีไป ก็ให้ไปกับพวกชาวบ้านได้ โดยให้ไปกับชาวบ้านที่มีความเลื่อมใสศรัทธาสามารถที่จะให้ความอุปถัมภ์ได้
            7.เมื่อที่ใดเกิดความขาดแคลน อาหารหรือยารักษาโรค ขาดผู้อุปถัมภ์บำรุง ได้รับความลำบากก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
            8. ถ้าหากมีผู้เอาทรัพย์มาล่อ ก็อนุญาตให้ไปจากที่นั้นได้
            9.หากภิกษุสงฆ์หรือภิกษุณีสงฆ์แตกกันหรือมีผู้พยายามจะให้แตกกัน ถ้าการไปจากที่นั้นสามารถระงับการแตกกันได้ ก็อนุญาตให้ไปได้
       ในวันเข้าพรรษา ถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน ด้วยการเปล่งวาจาว่า
                    อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
            หรือว่า อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ
            แปลว่า ข้าพเจ้าขออยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในอาวาสนี้ หรือในวิหารนี้ (ว่า 3 ครั้ง)
            หลังจากเสร็จพิธีเข้าพรรษาแล้วก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปนมัสการปูชนียวัตถุที่สำคัญในอาวาสนั้น ในวันต่อมาก็นำดอกไม้ ธูป เทียน ไปขอขมาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และพระเถระที่ตนเคารพนับถือ
            ในวันเข้าพรรษานี้ตามประวัติ ชาวไทยเราได้ประกอบพิธีทางศาสนา เนื่องในวันเข้าพรรษา มาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ซึ่งมีทั้ง พิธีหลวง และ พิธีราษฎร์ กิจกรรมที่กระทำก็มีการเตรียมเสนาสนะ ให้อยู่ในสภาพที่ดี สำหรับจะได้จำพรรษาอยู่ตลอด 3 เดือน จัดทำ เทียนจำนำพรรษา เพื่อใช้จุดบูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมา พระปริยัติธรรม ตลอดทั้ง 3 เดือน ถวายธูป เทียน ชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีปแก่พระภิกษุสงฆ์ ที่อยู่จำพรรษาในพระอาราม
            สำหรับเทียนจำนำพรรษาจะมีการ แห่เทียน ไปยังพระอารามทั้งทางบกและทางน้ำตามแต่หนทางที่ไปจะอำนวยให้ เพื่อนำเทียนเข้าไปตั้งในพระอุโบสถหรือพระวิหาร แล้วก็จะจุดเทียนเพื่อบูชาพระรัตนตรัย
            สำหรับการปฏิบัติอื่นๆ ก็จะมีการถวาย ผ้าอาบน้ำฝน การอธิษฐานตนว่าจะประพฤติปฏิบัติให้อยู่ในกรอบของศีลห้า ศีลแปด ฟังเทศน์ฟังธรรม ตามระยะเวลาที่กำหนดโดยเคร่งครัด ตามกำลังศรัทธา และขีดความสามารถของตน นับว่าวันเข้าพรรษาเป็นโอกาสอันดีที่พุทธศาสนิกชน จะได้ประพฤติปฏิบัติตนในกรอบของพระพุทธศาสนาได้เข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

วันออกพรรษา
   วันออกพรรษา เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน ได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น "วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ ๓ เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ (เพ็ญเดือน ๑๑) ของทุกปี วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ
๑.ไปไหนไม่ต้องบอกลา
๒.ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด
๓. ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้
๔. มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก ๔ เดือน
            อนึ่ง มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"
            แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี
            การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทางท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผลจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผลนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาตัดไว้เพื่อท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตามให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้ โดยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้ใหญ่คือผู้มีอาวุโสท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง
         การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดน้อยๆ นี้ที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นจุดศูนย์ที่ใหญ่ได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง


            ตัวอย่าง วันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหายไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา
            ส่วนพิธีของฆราวาสนั้นควรจะนำเอาพิธีปวารณาของพระท่านมาใช้ดูบ้าง ซึ่งจะมีผลดีที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าครอบครัวและสังคมต่าง ๆ และมีพิธีกรรมของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง

วันโกน-วันพระ
 วันพระ หรือ วันธรรมสวนะ หมายถึง วันประชุมถือศีลฟังธรรมในพุทธศาสนา (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) กำหนดเดือนทางจันทรคติละ 4 วัน ได้แก่
 วันขึ้น 8 ค่ำ
 วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ)
 วันแรม 8 ค่ำ
 วันแรม 15 ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม 14 ค่ำ)
          ในวันพระ พุทธศาสนิกชนถือเป็นวันสำคัญ ควรไปวัดเพื่อทำบุญ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ และฟังธรรม สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาอาจถือศีลแปดในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใดๆ การทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในวันพระถือว่าเป็นบาปยิ่งในวันอื่น
          วันโกน เป็นภาษาพูด หมายถึง วันก่อนวันพระ ๑ วัน
ประวัติความเป็นมา
          ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าศาสนาพุทธยังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาติให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชน ในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ
          พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็น วันธรรมสวนะ ( สำหรับวันธรรมสวนะนี้ เมืองไทยมีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น